วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อยากตอบ

ถาม ผมไปบริหารที่ยิม เขาพูดถึงการบริหารแบบฟิตเนส ทำไมบางคนเรียกว่าเล่นกล้าม มันต่างกันอย่างไร

ตอบ จริงๆแล้วผมอยากตอบปัญหานี้มานานแล้ว แต่เคยยับยั้งชั่งใจไว้ว่า ถ้าตอบไปอาจกระทบกระเทือนวงการฟิสเนส ฯลฯ รากเหง้าของปัญหาจริงๆคือ ความนิยมการเล่นกล้ามลดน้อยลง
หลังจากบูมมากเมื่อปี พ.ศ.2513 (พี่ๆเค้าว่ากันนะครับ) ซึ่งถือเป็นยุคทองของการเพาะกาย สมัยนั้นมีตัวแม่เหล็กคือ อาโนลด์ ชวาลเซเนกเกอร์ และคนอื่นๆ ต่อมา เมื่อกระแสนิยมลดลง ก็ทำให้การให้ความรู้ทางการเพาะกายถูกกำจัดไปด้วย คนเล่นกล้ามกันก็ไม่รู้ว่าตัวเองเล่นผิดหรือถูก มีความคิดกันว่าเล่นแล้วตัวเตี้ยบ้าง อวัยวะเพศลดลงบ้าง ฯลฯ

ในบ้านเรา มีวิทยาศาสตร์การกีฬา มีวิทยาลัยพละศึกษา ให้ความรู้เรื่องการบริหารร่างกายไปในแนวของ แอโรบิคเอ็กเซอร์ไซส์ มีหลักวิชาการสอนที่แน่นอน ดังนั้นเมื่อมีคนต้องการออกกำลังกาย ความรู้ที่เขาจะหาได้ก็คือ แนวแอโรบิคเอ็กเซอร์ไซส์เท่านั้น เพราะมีคนที่จบวิทยาศาสตร์การกีฬาจากที่ต่างๆมากมาย ในขณะที่การสอนวิชาเพาะกายไม่มีเลย และข้างล่างนี้ คือสิ่งที่เขาได้รับการสั่งสอนมา แล้วนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นต่อไป ซึ่งผมคัดลอกมาโดยไม่ได้ตัดทอน หรือเพิ่มเติมใดๆทั้งสิ้น


แอโรบิค (ฟิตเนส) v.s. อะเนโรบิค (การเพาะกาย)

ขณะที่แอโรบิคเน้นการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง อะเนโรบิคกลับเป็นการออกกำลังกายที่เน้นเพียงจังหวะเดียว แต่กระทำจนสุดแรงเกิด และยุติลงอย่างฉับพลัน ดังการแข่งขันยกน้ำหนัก ที่ต้องการกำลังสูงสุดในชั่วหนึ่งอึดใจเท่านั้น ผลของการทำอะเนโรบิคก็คือ เลือดไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงที่กล้ามเนื้อได้เพียงพอ ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า "Anaerobic" ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่กล้ามเนื้อทำขึ้น เพื่อสร้างพละกำลังอย่างที่ร่างกายต้องการ ผลของปฏิกิริยานี้ ร่างกายต้องหลั่งกรดแล็กติกสะสมไว้ที่กล้ามเนื้อเป็นอันมาก กรดแล็กติกนี้เองคือ ต้นเหตุของความเมื่อยล้า เจ็บปวด และเป็นตะคริว
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมกีฬาบางชนิด ( ไม่พูดตรงๆ แต่ก็รู้ว่าหมายถึงการเพาะกาย ) ไม่อาจจัดเป็นการออกกำลัง หรือสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายได้
ดังนั้น การออกกำลังกายชนิดใดที่ส่อไปยังการใช้กำลังสูงสุดในชั่วระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่ควรนำมาไว้เป็นส่วนหนึ่งของการออกกำลังกาย เพราะมันไม่ช่วยอะไรเลย มีแต่จะทำให้ร่างกายเดือดร้อน เกิดความเมื่อยล้า เจ็บปวดเพียงอย่างเดียว"

คราวนี้เห็นหรือยังครับว่า ตัวหนังสือสีแดงนั้น บอกให้เรารู้เลยว่าเขามีทัศนคติไม่ดีกับกีฬาเพาะกายของเราขนาดไหน เหมือนกับพูดว่า คนที่สะสมแสตมป์ หรือพวกเล่นไม้แคระ (บอนไซ) เป็นพวกปัญญาอ่อน (เพียงเพราะว่าคนพูด ไม่ได้เล่นแสตมป์ หรือไม้แคระ) แล้วก็อ้างเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้ ผมคิดว่ามันไม่แฟร์ และหวังว่าน่าจะมีสักวันหนึ่ง ที่วงการเพาะกายเราจับมือกัน แล้วเถียงเขาบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้โดนว่าแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น